ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานในการแถลงข่าวความสำเร็จของบริษัทซอฟต์แวร์ไทย ที่สามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CMMI (Capability Maturity Model Integration) จากสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute: SEI) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เป็นลำดับที่ 15 ของโลก จากบริษัทที่ผ่านการประเมินทั้งหมด 76 ประเทศ และเป็นลำดับที่ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไทยสามารถแซงหน้าประเทศมาเลเซียได้สำเร็จ ทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ไทยได้รับความน่าเชื่อถือและมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น สร้างความภาคภูมิใจในการที่จะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตลอดจนเป็นตัวเชื่อมคู่ค้าและพันธมิตรใหม่ๆให้กับผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์ไทย และเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
ปัจจุบันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร แฟชั่น ท่องเที่ยว ยานยนต์ และอัญมณี เนื่องจากความต้องการซอฟต์แวร์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยเสริมจากการเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่าความสำเร็จของบริษัทซอฟต์แวร์ไทยในวันนี้ เป็นผลมาจากการที่ซอฟต์แวร์พาร์คมีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ SPI@ease โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ยกระดับกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพ ด้วยการทำงานที่มีกระบวนการตามมาตรฐาน CMMI อันเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพ ลดความเสี่ยงด้านการบริหารบุคลากร โดยทำงานร่วมกันเป็นทีมสามารถเปลี่ยนถ่ายงานภายในทีมงานได้ง่าย ทำให้สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ครบถ้วนตรงตามกำหนดเวลา ภายใต้งบประมาณที่กำหนด สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในการแข่งขันในระดับเวทีโลก
โครงการ SPI@ease เป็นการผนึกกำลังการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐมี 2 หน่วย คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้การดำเนินโครงการของ สวทช.โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park of Thailand) ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITAP) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) โดยได้มีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยมีบริษัทซอฟต์แวร์กว่า 50 บริษัทที่สามารถพัฒนากระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามมาตรฐาน CMMI และผ่านการประเมินในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรฐาน CMMI (Capability Maturity Model Integration) เป็นกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย Software Engineering Institutle (SEI) แห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon สหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก จึงมีความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องส่งเสริมให้บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ของตนเองหันมาให้ความสนใจ เพื่อยกระดับคุณภาพและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับสากล นอกจากนี้ยังวางรากฐานในการยกระดับขีดความสามารถของ บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ให้พร้อมแข่งขันในเวทีการค้าเสรีและในระดับสากล โดย CMMI กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อให้ทุกคนมีขั้นตอนการปฏิบัติงานและการทำงานต่างๆ ชัดเจน ทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไร ทำให้ปัญหาต่างๆ ลดน้อยลง และขอบเขตการทำงานของ CMMI ที่เข้ามาควบคุมยังทำให้คุณภาพซอฟต์แวร์ดีขึ้น อีกทั้งยังลดจำนวนของเสียจากกระบวนการผลิต หากกระบวนการทำงานไม่ชัดเจนอาจเกิดข้อผิดพลาดและนำมาซึ่งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ ดังนั้นหากสามารถควบคุมคุณภาพและส่งงานได้ตามกำหนดเวลา จะทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจในมาตรฐาน ซึ่งถือว่าสำคัญไม่เฉพาะในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เท่านั้น หากมีอยู่ในทุกอุตสาหกรรมจะยิ่งเพิ่มมาตรฐานและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ที่มา: นิตยสาร Engineering Today ปีที่ 10 ฉบับที่ 115 เดือนกรกฎาคม 2555