ในยุคที่คนไทยหายใจเข้าออกเป็น AEC จะมีสักกี่คนที่รู้จริงโดยเฉพาะเรื่องเมียนมาร์* ซึ่งเป็นประเทศที่เรียกได้ว่า “เซ็กซี่” ที่สุดในโลกเวลานี้ ซึ่งกำลังเปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติ กลังถูกชาติตะวันตกแซงก์ชั่นมานาน คอมลัมนิสต์ของเมียนมาร์ไทม์ยังว่าตอนนี้มี Carpetbagger เพียบ
มีนักธุรกิจของไทยหลายรายได้เข้าไปลงทุนที่เมียนมาร์มานาน อาทิ ใบหยก ธนาคารกรุงเทพ แอลพี ซีพี รวมทั้งธุรกิจตามแนวชายแดน โดยเฉพาะที่แม่สอดและแม่สาย ก็มีเป็นจำนวนมากทำให้ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของเมียนมาร์ (แต่ถ้าไม่รวมการซื้อก๊าซธรรมชาติ จะเป็นอันดับ 2 รองจากจีน) อย่างไรก็ดี ในด้านสายสัมพันธ์แล้ว สิงคโปร์มีความใกล้ชิดมากกว่า ดังจะเห็นจากการที่ผู้นำทหารระดับสูงของเมียนมาร์นิยมไปพักรักษาตัวที่นั่น
แต่ที่มีบทบาทลึกซึ้งมากที่สุดก็คือคนจีน โดยเฉพาะจากมณฑลยูนนานที่ฝังตัวในเมียนมาร์มาอย่างยาวนาน จนมีสัญชาติเมียนมาร์ไปแล้ว และทางการจีนเองก็มีโครงการท่าเรือน้ำลึกที่เจ้าก์ผยู่ (Kyaukpyu) พร้อมท่อส่งก๊าซและน้ำมัน มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งถ่ายพลังงานจากตะวันออกกลางและเมียนมาร์ถึงจีนได้โดยตรง
ทว่าการพึ่งพาจีนเป็นหลักในอดีตก็เปรียบเสมือนดาบสองคม กลุ่มผู้นำเมียนมาร์ได้แสดงความหลักแหลม โดยการเปิดประเทศทีละขั้นเพื่อลดอิทธิพลของจีน หลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2555 อองซานซูจี ได้กลับมามีบทบาท เป็นเสมือนสัญญาณว่าเมียนมมาร์เปิดประเทศอย่างจริงจัง ชาติตะวันตกก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร ทำให้เริ่มเห็นข่าวธุรกิจไทยรายใหม่ๆ ที่บางรายอาจจะมีการค้ากับเมียนมาร์มาก่อนแล้ว) ขยายการค้าการลงทุน เช่น สหพัฒน์ อินเด็กซ์ ทีโอเอ และยังมีอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ
สุภาพรรณ เตียพิริยะกิจ เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ให้ข้อมูลว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่งต้องการเปลี่ยนสัดส่วน GDP ของประเทศ จากภาคเกษตรเป็นหลักมาเป็นภาคบริการลุตสาหกรรมมากขึ้น และเมื่อท่านมาเยือนไทยในเดือนมิถุนายน ก็ได้เซ็น MOU กับไทยในการผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย
สถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ยินดีต้อนรับและให้ข้อมูลแก่คนไทยที่สนใจในประเทศเมียนมาร์ แนวโน้มการลงทุนต่อไป นอกจากผลประโยชน์ที่ต้องสอดคล้องกันระหว่างคู่ค้าไทยและเมียนมาร์แล้ว ยังมีเรื่อง CSR ที่เป็นจุดแข็งของไทย เพราะทั้งซีพี เอสซีจี ปตท. ก็ได้ทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ให้ทุนการศึกษา สร้างโรงเรียน สร้างสาธารณูปโภคให้แก่ชุมชน คุ้มครองแรงงานตามมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในเมียนมาร์
ศริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เตือนนักธุรกิจที่สนใจลงทุนว่าให้เตรียมใจเจออุปสรรคไว้ก่อน การไปควรเป็นคลัสเตอร์ เช่น สิ่งทอ อาหารทะเล และควรหาคู่ค้าท้องถิ่น ซึ่งบางทีก็ไม่ต้องหาไกล อย่างลูกนักธุรกิจเมียนมาร์ที่เอแบคก็ไม่น้อย โดยต้องระมัดระวังความไม่เข้าใจกันทั้งด้านวัฒนธรรมและภาษา ภาษาอังกฤษก็ยังใช้ได้เพียงส่วนน้อย ไม่ได้แพร่หลายเหมือนที่คิด
สาธารณูปโภคในเมียนมาร์ก็ยังไม่พร้อม อย่างไรก็ดี หากพิจารณาแล้วว่าการผลิตในไทยเริ่มขาดความสามารถในการแข่งขัน เช่น ค่าแรงสูงขึ้น สิทธิ GSP ไม่ได้รับแล้ว หรือวัตถุดิบก็ต้องใช้ของเมียนมาร์ ก็ควรพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งการลงทุนในเมียนมาร์หรือลาว อาจมีข้อดีที่เขาอาจจะยังเอาเทคโนโลยีของเราไปไม่ได้ แต่ถ้าไปเวียดนามหรืออินโดนีเซีย ไม่กี่ปีเทคโนโลยีของเราก็อาจจะถูกลอกเลียนแบบได้
วิศวกรไทยที่เข้าไปทำงานในเมียนมาร์นั้น แทบทั้งหมดเข้าไปตามการลงทุนหรือการให้บริการด้านวิศวกรรมของภาคเอกชนไทยทั้งรายเก่าและใหม่ อาทิ ปตท. อิตัลไทย เนาวรัตน์ฯ เอสซีจี เอสซีซีซี กันกุล ทีมกรุ๊ป โตโย-ไทย ราชาแมชชีนเนอรี่ ควอลลีเทค ยูเอซี ไฮโดรเท็ค แอล.วี.เทคโนโลยี
ข้อได้เปรียบของไทยคือการที่มีวิศวกรเมียนมาร์จำนวนไม่น้อยเคยศึกษาในไทย โดยเฉพาะศิษย์เก่าเอไอที และคนเมียนมาร์อีกหลายล้านคนที่เคยหรือกำลังทำงานในไทย ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีเพื่อน สามีภรรยา หรือคู่ค้าคู่ลงทุนเป็นคนไทย สายสัมพันธ์นี้มีเอกลักษณ์ยากที่ชาติอื่นใดจะเสมอเหมือน เกชา ธีระโกเมน อดีตเลขาธิการสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพิ่มเติมว่าไทยจะเข้าเมียนมาร์แบบเพื่อน โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ตัวท่านเองก็ได้รับเชิญให้ไปถ่ายทอดความรู้เรื่องเทคโนโลยีงานระบบในอาคารด้วย
เจ้าหน้าที่จากสภาวิศวกร เพิ่มเติมว่าจากข้อตกลง MRA ของอาเซียน ซึ่งมีข้อหนึ่งระบุว่า ใน ค.ศ.2015 วิศวกรต่างชาติที่มีคุณสมบัติ ก็สามารถเซ็นแบบได้ แต่ต้องเซ็นร่วมกับวิศวกรท้องถิ่น แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ส่วนระเบียบปฏิบัตินั้น สภาวิศวกรจเสนอผ่านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศสู่ที่ประชุมอาเซียนต่อไป
อูตันเหมี่ยน (“อู” เป็นคำนำหน้าชื่อผู้ชายที่มีอาวุโส) อดีตประธาน Myanmar Engineering Society ได้กล่าวถึงสถานการณ์หลังการเปิดประเทศว่า เมียนมาร์ต้องการวิศวกรจำนวนมาก เพื่อพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน คนเมียนมาร์จากต่างประเทศบางส่วนก็ได้แสดงความสนใจที่จะกลับมา อูโซเต็ง วิศวกรปริญญาเกจาก NUS ซึ่งทำงานในสิงคโปร์มากว่า 20 ปี ยังกลับมาเมียนมาร์ เพราะเห็นถึงช่องทางและโอกาส จึงได้ร่วมกับ Clancy Global บริษัทที่ปรึกษาของอินเดีย เปิดสาขาย่างกุ้งเพื่อรับงานในประเทศ
อูซอว์ซอว์เอย์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีฟโก้ หนึ่งในผู้มีบทบามสำคัญเชื่อมโยงวงการวิศวกรรมไทย-เมียนมาร์ เสริมว่ายังมีโอกาสมากมายในเมียนมาร์ โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูง สะพาน อุโมงค์ ฯลฯ ที่เมียนมาร์ยังขาดประสบการณ์ โดยเฉพาะการออกแบบเพื่อรับแผ่นดินไหว การทำงานร่วมกับวิศวกรไทยก็ไม่มีปัญหา ที่แตกต่างกันบ้างก็คือเมียนมาร์จะนิยมใช้หน่วย FPS
ยังมีบุคคลที่น่าสนใจอีกคนหนึ่ง สตรีผู้เป็นหนึ่งในผู้บริหารสูงสุดของบารอนส์กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของบริษัท EPC ของเมียนมาร์** ดอว์อีพิวเชนเต (“ดอว์” เป็นคำนำหน้าชื่อผู้หญิงที่มีอาวุโส) ผู้ดูแลธุรกิจด้านพลังงานของกลุ่ม โดยเฉพาะสายส่งไฟฟ้า ได้ให้กำลังใจผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนว่า แม้ว่าพลังงานไฟฟ้าจะยังไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหา ค่าไฟเองก็ไม่ได้แพงกว่าไทย ในครัวเรือนและการพาณิชย์เสีย 35 จ๊าตต่อยูนิต ในอุตสาหกรรม 75 จ๊าต ระบบการศึกษาปัจจุบันผลิตวิศวกรทุกสาขาได้เพียงประมาณ 5 พันคนต่อปี ต้องเพิ่มจำนวนอีกมาก และดึงคนเมียนมาร์ที่ไปต่างประเทศอีกประมาณ 3 ล้านคน (ไม่รวมแรงงานในไทย) กลับมา
ส่วนผู้เขียนเองนั้น จากประสบการณ์ที่ได้พบในเมียนมาร์ดูเนๆ บรรยากาศในชนบทคล้ายกับการย้อนอดีตไปในไทยเมื่อ 50 ปีก่อน การก่อสร้างก็ใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ การสร้างถนนยังใช้คนงานโรยกรวด ราดยางมะตอยกันอยู่ ถนนบางแห่งสร้างเสร็จจะเก็บเงินค่าผ่านทาง แต่ไม่มีด่านเป็นตัวอาคาร มีแต่คนนั่งริมถนนเก็บเงิน น่ารักไปอีกแบบ
พนักงานหรือผู้บริหารเมียนมาร์ที่มีการศึกษาหรือมีทักษะดีก็ยังมีน้อย ทำให้ค่าแรงพุ่งขึ้นสูง เลขาฯ หรือเสมียนระดับเริ่มต้นอาจมีค่าแรงถูก แต่มี่ภาษาอังกฤษค่อนข้างดี พอมีประสบการณ์เงินเดือนประมาณ 1.5 หมื่น ส่วนที่ภาษาและความสามารถดี อาจต้องจ่ายถึง 2-3 หมื่น วิศวกรจบใหม่เริ่มประมาณ 3-4 พัน ถ้าพอมีประสบการณ์ 1-2 ปี ก็ 6-8 พัน ส่วนที่มีทักษะและประสบการณ์ดีตั้งแต่ 1.5-6 หมื่น (ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขโดยสังเขป แตกต่างไปแล้วแต่บริษัทและบุคคล)
ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือค่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าที่ดินในย่านใจกลางเมืองที่แพงที่สุด เช่น ใกล้เจดีย์สุเล ราคาขึ้นไปถึงตารางวาละ 1.5 ล้านบาทแล้ว ค่าเช่าที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน หรือพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมก็ถีบตัวสูงขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากอุปทานที่มีน้อย และเงินของเศรษฐีหรือธุรกิจในประเทศ เช่น พวกที่รวยจากการค้าหยก ซึ่งในอดีตนำออกนอกประเทศยากหรือไม่กล้านำออกไป จึงมาเก็งกำไรกันในประเทศ เมื่อประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศทะลักเข้ามา ทำให้ราคาขยับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องที่ต่างชาติเตือนให้รัฐบาลเมียนมาร์แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
. Investment ยาสุฮิโร่ วาตานาเบ้ ผู้บริหารของมารูเบนิ กล่าวว่าถ้าลองทำเช็คลิสต์ปัญหาในการลงทุนในเมียนมาร์ จะยาวเหยียดถึง 50-60 บรรทัด แต่ก็ยังคาดว่าผลประโยชน์ยังคุ้มเสี่ยง นี่อาจจะเป็นสิ่งสะท้อนแนวคิดของผู้มีอำนาจระดับสูงในวงการเมืองของญี่ปุ่นอย่าง ฮิเดโอะ วาตานาเบ้ ที่ร่วมผลักดันให้มีการเสนอการลดหนี้และความช่วยเหลือครั้งประวัติศาสตร์แก่เมียนมาร์รวมมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี
สุดท้ายนี้ Go or No Go ก็คงต้องถามให้ถูกคน แต่ละคนก็มีปัจจัยต่างๆ ไม่เหมือนกัน คนที่เคยเจ็บตัวทั้งที่นี้และที่อื่นมาแล้ว หรือยังพอใจกับตลาดในประเทศ จะให้ไปก็คงไม่อยาก คนที่เคยประสบความสำเร็จที่อื่น ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะสำเร็จที่นี่ แต่จะให้คนว่ายน้ำไม่เป็นสอนให้เราว่าย ก็คงไม่ใช่ อ.สมเกียรติ เอ่าจี่มิด ฝากข้อคิดให้ว่า “ซู้ซั่นเส่งเฉ่งพีมหมะโลบะ” แปลว่า ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนแล้วจึงลงมือทำ
DFDL คอนซัลต์ฝรั่งบอกว่า อย่างน้อยให้ไปดูด้วยตัวเองก่อนค่อยตัดสินใจ เส่งพัน (Serge Pun) มหาเศรษฐีฮ่องกงที่เกิดเมียนมาร์และกลับมาทำธุรกิจ เมื่อ ค.ศ.1991 บอกว่าคนทำธุรกิจเป็น ถ้าไปก็ได้กลิ่นโอกาสแล้ว ส่วนคนที่ทำไม่เป็นนั้นอยู่บ้านดีกว่า และไม่จำเป็นต้องจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ได้งานด้วย เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง พิษณุ สุวรรณะชฎ ถึงกับกล่าวว่าตอนนี้เป็น 3 ปีทองของไทยที่จะเข้าไปก่อนยักษ์ใหญ่นานาชาติจะปักหลักสำเร็จ
* คำว่า “พม่า” ออกเสียงคล้ายคำที่แปลว่าโสเภณี (พามะ) เราจึงใช้คำว่า “เมียนมาร์” แทน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็สนับสนุนให้ใช้ เพราะเป็นตัวแทนของทุกชาติพันธุ์
** ไม่รวมบริษัทก่อสร้างที่เน้นงานโยธา ซึ่งมีขนาดใหญ่ เช่น เอเชียเวิลด์ แม็กซ์เมียนมาร์
ที่มา: กนก อัศววรานันต์ นิตยสารอินทาเนีย ฉบับเดือนกันยายน – ตุลาคม 2555