ข่าวจากองค์การอนามัยโลกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 รายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ป่วยว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ป่วย 1 ใน 10 คนได้รับอันตรายระหว่างที่รับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล และผู้ป่วยทุก ๆ 100 คนที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งประมาณ 7 คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว และ 10 คนในประเทศที่กำลังพัฒนา จะติดเชื้อจากากรตรวจรักษา (health care-associated infections) นั่นคือ ผู้ป่วยหลายร้อยคนทั่วโลกติดเชื้อจากการตรวจรักษาในโรงพยาบาล ทั้งที่การติดเชื้อเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่าย ๆ และราคาถูก เช่น การดูแล (ล้าง) มือให้สะอาดก่อนการตรวจและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแต่ละคน โดยแพทย์พยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะลดการติดเชื้อนี้ลงได้มากกว่าร้อยละ 50 เป็นต้น
ใน พ.ศ. 2556 มรการวิเคราะห์รายงาน 4 ฉบับ เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการสุ่มตรวจเวชระเบียนของผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ใรโรงพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริการะหว่าง พ.ศ. 2551 ถึง 2554 และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ Journal of Patient Safety 2013 : 122-128 ว่า
ในแต่ละปีในสหรัฐฯ มีผู้ป่วยระหว่าง 210,000 ถึงมากกว่า 400,000 คนเสียชีวิตจากเหตุร้ายของการตรวจรักษาที่น่าจะป้องกันได้ (preventable adverse events) และผู้ป่วยที่เกิดอันตรายร้ายแรง (serious harm) แต่ไม่เสียชีวิตมีจำนวนประมาณ 10-20 เท่าของจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิต นั่นคือ ในแต่ละปีในสหรัฐฯ มีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3-8 ล้านคนเกิดอันตรายร้ายแรงจากาการตรวจรักษา
อันที่จริง ได้มีการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในสหรัฐฯ ตั้งแต่ 30 ปีก่อน เช่น Harvard Medical Practice Study ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine 1991: 324 : 370-376 ซึ่งสุ่มสำรวจเวชระเบียนของผู้ป่วยที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล 51 แห่งในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ ใน พ.ศ 2527 จำนวน 30,000 เล่ม พบว่าร้อยละ 3.7 ของผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เกิดเหตุร้ายรุนแรง (serious adverse events) โดยร้อยละ 58 ของเหตุร้ายเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ และร้อยละ 13.6 ของเหตุร้ายเหล่านั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ทำให้อนุมานได้ว่า ผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมดในสหรัฐฯ ได้เสียชีวิตโดยไม่สมควรประมาณ 98,000 คนต่อปี
ต่อมาสถาบันเวชศาสตร์ (Institute of Medicine) ของสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือแนะนำแนวทางในการเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย (Institute of Medicine. Patient Safety – Achieving a New Standard of Care. Washington, DC : The Academic Press: 2004)