ปัจจุบันความเข้าใจและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคภูมิแพ้อาหารในประเทศไทยยังไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากส่วนใหญ่คิดว่าอาการแพ้อาหาร จะมีเพียงผื่นคันเท่านั้น เพียงกินยาแล้วหาย แต่ในความเป็นจริง หากผู้ที่เกิดการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) มีโอกาสถึงขั้นเสียชีวิตได้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต วิชยานนท์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา (Allergy) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี กล่าวถึงวิกฤตโรคภูมิแพ้อาหารในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีเด็กเล็กผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้อาหารมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ “แป้งสาลี” ถึง 300-400 เปอร์เซนต์ อดีตที่มีผู้ป่วยเด็กเล็กเฉลี่ยอยู่ที่ปีละเพียง 1 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยแพ้อาหารถึงสัปดาห์ละ 2 คน โดยส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่มีฐานะปานกลางถึงดี อายุที่เกิดขึ้นบ่อย คือ 2 ขวบปีแรก แต่ท้งนีก็สาารถเกิดได้ในทุกวัยเช่นเดียวกัน
อาหารส่วนใหญ่ที่ทำให้แพ้
อาหารที่คนส่วนใหญ่กินแล้วเกิดอาการแพ้ประกอบด้วย “นมวัวและไข่” (พบอาการแพ้ทั่วโลก) “ถั่วลิสง” (ส่วนใหญ่พบในอเมริกา ยุโรป) “ถั่วประเภท Tree Nuts” (อาทิแมคคาเดเมีย มะม่วงหิมพานต์) ทั้งนี้ในเอเชียที่แพ้มากที่สุด คือ ซีฟู้ด เช่น ปลา กุ้ง
ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ทีดีขึ้นของคนในปัจจุบัน ถือเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการแพ้อาหาร เนื่องจากได้รับประทานอาหารที่สะอาดผ่านกรรมวิธีมากขึ้น จากเดิมที่ภูมิคุ้มกันต้องต่อสู้กับเชื้อโรคกลับมาต่อสู้กับอาหารแทน
ภูมิแพ้อาหารในระดับโลก
ศ.นพ.ฮิวจ์ เอ แซมพ์สัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้อาหารระดับโลก ผู้ริเริ่มวิจัยระดับแถวหน้าที่เน้นนวัตกรรมการรักษาด้วย Epidermal Patch Immunotherapy (EPIT) เปิดเผยว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยี ที่คิดค้นมาใช้รักษาโรคดังกล่าว อาทิ การรักษาแบบ OIT คือ แพ้อะไรก็ใส่สารนั้นเข้าไปทีละเล็กทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน แต่อาจมีข้อเสีย คือ ถ้ากินเข้าไปอาจแพ้รุนแรง ถัดมา คือ การแปะแผ่นคล้ายกอเอี๊ยะ แต่ต้องใช้เวลานาน สุดท้าย คือ ดีเอ็นเอวัคซีน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการคิดค้นและพัฒนา
ในส่วนของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งได้เดินหน้าศึกษาโรคภูมิแพ้อาหารเพิ่มมากขึ้น โดย ศ.นพ.แกรี หว่อง ประธานสมาคมโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAPARI) และเป็นหนึ่งในผู้บริหารของคณะวิจัย Global Initiative for Asthma (Gina) กล่าวว่า สำหรับในเอเชียประเทศญี่ปุ่นและสิงค์โปร์ พบอาการของโรคภูมิแพ้ค่อนข้างสูง และที่ต่ำสุด คือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง ซึ่งจากไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนไปเดิมอยู่กับดินกินกับหญ้า ปัจจุบันมีความเป็นอยู่สะอาดขึ้น กินอาหารผ่านกระบวนการนอมอาหาร ทำให้เกิดภูมิแพ้มากขึ้น เช่น ในสหรัฐและยุโรป
พ่อแม่หลายคนคิดว่า เด็กแพ้อาหารชนิดใดก็จะเลี่ยงไม่ให้รับประทานอาหารชนิดนั้น ซึ่งส่งผลให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง..
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 ตุลาคม 2561