แก่นตะวัน เป็นพืชตระกูลเดียวกับทานตะวัน มีดอกสีเหลืองคล้ายดอกบัวตอง แต่มีหัว รูปร่างคล้ายขิงอวบ เปลือกเป็นผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาวและกรอบคล้ายแห้ว (หัวดิบมีรสหวานเล็กน้อย)
แก่นตะวันวันเป็นพืชล้มลุก เพาะปลูกในเขตร้อนได้ดี มีขนคล้ายหนามกระจายทั่วลำต้นและใบ จึงต้านทานต่อแมลงได้ดี ความสูงประมาณ 1.5-2.0 เมตร มีถิ่นกำเนิดแถวทวีปอเมริกาเหนือ และมีการนำมาปลูกอย่างแพร่หลายแถบทวีปยุโรป ทั้งเขตหนาว เขตกึ่งหนาวและเขตร้อน เช่น ประเทศอินเดีย
สำหรับประเทศไทย ดร.สุรพงษ์ โกสิยะจินดา อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำมาปลูกบนสถานีเกษตรหลวงปางดะ มูลนิธิโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2535 เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาผลิตจำหน่ายให้กับโครงการหลวง แต่สมัยนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค
เนื่องจากแก่นตะวันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูง มีต้นทุนการปลูกและดูแลรักษาน้อย แม้บางพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ก็สามารถให้ผลผลิตได้ดี
รศ.ดร.สนั่น จอกลอย ได้นำพืชชนิดนี้จากต่างประเทศเข้ามาอีกครั้ง เพื่อศึกษาวิจัยที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และตั้งชื่อภาษาไทยขึ้นใหม่ เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวเย็น แต่ปลูกในเขตร้อนได้ดี สามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันมาก มีความแข็งแกร่งทนทาน จึงให้ชื่อนำหน้าพืชนี้ว่า “แก่น” และเป็นพืชที่ใกล้ชิดกับทานตะวัน จึงให้ชื่อพืชชนิดใหม่นี้ว่า “แก่นตะวัน” พืชแก่นตะวันจัดเป็นพืชหัว พืชอาหารสมุนไพรเพื่อสุขภาพ พืชอาหารสัตว์ พืชพลังงานทดแทน และพืชเพื่อการท่องเที่ยว
กระทั่งปี พ.ศ.2550 รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มองเห็นความสำคัญของพืชชนิดนี้ ให้จัดหางบประมาณดำเนินการวิจัยใหม่ โดยจัดทำเป็นชุดโครงการ โดยมี รศ.ดร.สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล เป็นผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยเสนอพิจารณาของบประมาณจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. จึงเป็นที่มาของการกลับมาอีกครั้งของพืชแก่นตะวัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หัวแก่นตะวัน” ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จมาก มีผู้ที่รักสุขภาพ ผู้จำหน่ายและผู้บริโภคสนใจจำนวนมาก
การกลับมาทำวิจัยใหม่ได้นำหัวพันธุ์ที่ได้จาก รศ.ดร.สนั่น จอกลอย มาปลูกคัดเลือกสายพันธุ์ที่สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ เพื่อหาพันธุ์ที่ตอบสนองพื้นที่สูงและปริมาณผลผลิตหัวสดสูง สารอินนูลินสูง และความหวานสูง โดยเปรียบเทียบกับการปลูกในแปลงพื้นที่ราบด้วย
มีผลการวิจัยจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวกับการนำมาใช้ประโยชน์ ไม่มีอันตรายและผลข้างเคียง หากกินต่อเนื่องยิ่งส่งผลดีต่อการควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายให้ลดลง หัวแก่นตะวันมีคาร์โบไฮเดรต ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปอินนูลิน โดยเป็นพอลิเมอร์ของฟรักโทส จึงมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
ที่สหรัฐอเมริกาได้นำหัวแก่นตะวันมากินเป็นอาหารหลายรูปแบบ นอกจากนี้หัวแก่นตะวันยังสมารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอินนูลิน ซึ่งจะพบในหัวแก่นตะวันมากถึงร้อยละ 16-39 โดยอินนูลินจะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำเชื่อมฟรักโทสเข้มข้น เพื่อใช้เป็นสารให้ความหวานในอุตสาหกรรมอาหาร
นอกจากนี้ยังพบว่า การเสริมสารสกัดของพืชแก่นตะวันในอาหารสัตว์ เช่น สุกร สุนัข จะช่วยลดปริมาณแอมโมเนียในระบบทางเดินอาหารและสิ่งขับถ่าย สามารถลดปริมาณสารที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นจากสิ่งขับถ่าย
พืชแก่นตะวันเป็นพืชที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นและได้รับความสนใจหลายจังหวัด สำหรับประเทศไทยพืชนี้มีการปรับตัวได้ดีและให้ผลผลิตหัวสดสูง
ที่มา: นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 34 เดือนธันวาคม 2555