www.thaibiogas.com โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ
เว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและของเสีย โดยครอบคลุมการบำบัดน้ำเสียกว่า 1,783 แห่ง ใน 3 กลุ่ม เพื่อนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้เป็นพลังงานทดแทนในรูปความร้อนและไฟฟ้า ระยะเวลา 5 ปี (มกราคม 2551 – มกราคม 2556) โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1) ภาคปศุสัตว์และกิจการที่เกี่ยวข้อง โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการจัดทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพใน 4 ส่วน ได้แก่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดกลางและใหญ่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก โรงฆ่าสัตว์ และโรงชำแหละแปรรูปไก่
2) ภาคอุตสาหกรรม มี สนพ. ประกาศรับข้อเสนอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการ/โรงงานยื่นขอรับเงินสนับสนุนสำหรับจัดทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและของเสียในโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองทุนจะให้เงินสนับสนุนแก่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ โรงงานแป้ง โรงงานสกัดน้ำมันจากพืช โรงงานเอทานอล โรงงานแปรรูปอาหาร และโรงงานน้ำยางข้น และ
3) ภาคชุมชน โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำประกาศรับข้อเสนอเชิญชวนให้โรงแรมและสถานประกอบการ ยื่นขอรับเงินสนับสนุนสำหรับจัดทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารในโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ
www.icm.in.th/index.html โครงการเทศบาลคาร์บอนต่ำ
“เมือง” เป็นที่รวมของคนจำนวนมากและวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของคนเมืองมีการพึ่งพาเทคโนโลยีมาก มีการใช้พลังงานและผลิตมลพิษมาก และมีพื้นที่สีเขียวในเมืองน้อย จึงทำให้พื้นที่ชุมชนเขตเมืองมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศที่มีความเข้มข้น ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น
ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการร่วมแก้ไขปัญหาความรุนแรงของวิกฤตดังกล่าว สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เล็งเห็นว่า “เทศบาล” เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพที่จะเข้าไปมีบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาตามแนวคิด “เมืองคาร์บอนต่ำ” จึงได้ไปขอรับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปมาดำเนินการ ขณะนี้ได้มีเทศบาลกว่า 100 แห่งแล้ว ทั้งในระดับตำบล เมืองและนคร ร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการ 4 รูปแบบ อันได้แก่ เมืองต้นไม้ ไร้มลพิษ พิชิตพลังงาน และการบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อลดปัญหาโลกร้อน สนใจรายละเอียดของโครงการเทศบาลคาร์บอนต่ำ เข้าเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์นี้
ที่มา: นิตยสาร Green Network ฉบับเดือนกันยายนและตุลาคม 2555