สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จับมือ ม.มหิดล วิจัยการพัฒนาเด็กศตวรรษที่ 21 ครอบคลุม 4 แผนงาน เน้นสมองเด็ก 3,000 วัน ให้มีทักษะเชิงบริหาร ควบคุมตนเองเป็น ยืดหยุ่นได้ เพิ่มพื้นที่สุขภาวะ วิจัยภัยเทคโนโลยี ทั้งโลกไซเบอร์ อีสปอร์ต มวยเด็ก รวมระยะเวลา 3 ปี เหตุใช้ความรู้เก่าพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ หวังสร้างคนคุณภาพสู้กับสังคมโลก ชงสู่นโยบายและการปฏิบัติ
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) “แผนงานวิจัยการปฏิรูปสุขภาวะและการพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21” เพื่อสร้างงานวิจัยและขับเคลื่อนสู่นโยบาย
นพ.นพพร กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 จะมีการแข่งขันเรื่องทรัพยากรมนุษย์ เพราะจะทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ ดังนั้น จึงต้องสร้างเด็กที่มีความเพรียบพร้อมทั้งด้านสุขภาพ เจตคติ สติปัญญา พร้อมเรียนรู้ในการต่อสู้กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในและต่างประเทศ โดยต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์มารดา อย่างไรก็ตาม สภาพสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก จะใช้องค์ความรู้เก่าพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ จึงต้องมีการวิจัย โดยเฉพาะจุดที่ยังมีปัญหา และผลักดันสู่ผู้กำหนดนโยบาย จนนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งในส่วนของสาธารณสุข ไทยพยายามเสริมความสุขภาพดีให้ตั้งแต่ในมารดา แต่ยังไม่พอ ต้องเสริมนวัตกรรมเข้าไปด้วย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างแท้จริง
“เราต้องยอมรับว่า ปัญหาหลายอย่างในประเทศไทย ทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนา มีหลายประเทศก้าวข้ามประเทศไทยไปแล้ว เช่น สิงคโปร์ ทั้งนี้ จากการสนับสนุนงานวิจัยในปี 2559 พบว่า เด็กปฐมวัย อายุ 2-6 ปี มีคะแนนพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารล่าช้ากว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อยไปจนถึงมากเกือบ 30% ซึ่งเด็กที่มีปัญหาดังกล่าว จะมีปัญหาในการควบคุมตนเอง หุนหันพลันแล่น ใจร้อน รอคอยไม่เป็น สมาธิสั้น วอกแวกง่าย ระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อการเรียน การทำงาน การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น หนีเรียน ก้าวร้าว ติดบุหรี่ ติดสุรา เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ติดพนัน ติดยาเสพติด ก่ออาชญากรรม รวมถึงโรคทางจิตเวช เช่น โรคซน สมาธิสั้น ย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า โรคความประพฤติผิดปกติ ฯลฯ” นพ.นพพร กล่าว
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาเด็กในยุคศตวรรษที่ 21 จะต้องพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน (SDG) ซึ่งความร่วมมือในงานวิจัยนี้ก็จะตอบโจทย์ดังกล่าว โดยจะดำเนินการวิจัยภายใต้ 4 แผนงาน คือ 1.งานวิจัยเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัย “สมอง 3,000 วัน สู่สุขภาพ ศักยภาพตลอดชีวิต” เนื่องจากช่วง 3,000 วันแรกของชีวิต คือ ตั้งแต่ในครรภ์จนถึง 8 ขวบ เป็นช่วงที่สมองกำลังมีการพัฒนา แต่ปัจจุบันยังขาดมาตรฐานในการดูแล ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และเตรียมประถม ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั้งการดูแลและการเรียนรู้ ถือเป็นนวัตกรรมที่ต้องสร้างใหม่ โดยเฉพาะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ เด็กต้องพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ การคิดตัดสินใจ การเชื่อมโยงสื่อสารกับผู้อื่น การควบคุมตนเอง โดยจะต้องเรียนรู้ตั้งแต่ปฐมวัย จะช่วยให้สร้างมนุษย์ที่มีความยืดหยุ่น เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
2.งานวิจัยเชิงระบบเพื่อนำสู่แนวคิดการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะของเด็กและครอบครัว เช่น งานวิจัยเพื่อเพิ่มพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและครอบครัวในชุมชน
3.งานวิจัยสมองกลุ่มเด็กเปราะบาง เด็กยากจน เด็กได้รับสารพิษ เด็กได้รับภัยเทคโนโลยี เด็กกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น งานวิจัยสมองเด็กกับโลกไซเบอร์ อีสปอร์ต รวมถึงนักมวยเด็ก เป็นต้น อย่างปัญหาโลกไซเบอร์ซึ่งเป็นความเจริญทางเทคโนโลยี ทำให้โลกแคบลง เด็กศึกษาได้ง่าย เข้าถึงง่าย การใช้เหล่านี้มีข้อจำกัดในเด็ก ขณะที่ข้อมูลเนื้อหาไม่ได้เหมาะสำหรับเด็กทั้งหมด และใช้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทั้งที่เด็กควรจะได้ไปเล่นออกกำลัง มีเพื่อน ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจเกิดภาวะแยกตัว เกิดภาวะออทิสติกเทียม เสียพัฒนาการทางสังคม จึงให้เด็กใช้ตามสบายไม่ได้ และ
4.แผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด CCFR: องค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อเด็กและครอบครัว
ทั้งนี้ ความร่วมมือดำเนินงานดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ม.ค. 2562 – 31 ธ.ค. 2564
ที่มา : http://www.thaihealth.or.th
วันที่ 2 มกราคม 2562