ในตำรับยาสมุนไพรไทยของเก่า มีสมุนไพรหลายชนิดที่ใช้เพื่อการบำรุงเส้นเอ็น ทำให้เอ็นหย่อน แก้อาการเอ็นขอด และรักษาเส้นเอ็นที่ชำรุดให้บริบูรณ์ ตัวอย่างของยาสุมนไพรพวกนี้ ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง เถาเมื่อย (เถาเอ็น) เถาเอ็นอ่อน หมีเหม็น มะหาด และต่อไส้ (เพี้ยฟาน) เป็นต้น แต่ในที่นี้จะพูดถึงเถาวัลย์เปรียง ซึ่งเป็นพรรณไม้พื้นบ้านที่หาดูได้ไม่ยากนัก
เถาวัลย์เปรียงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามถิ่นต่างๆ โดยทางอีสานมักจะเรียกว่า เครือตาปลาหรือเครือตับปลา ภาคใต้เรียกย่านเหมาะหรือย่านเมราะ ภาคเหนือเรียกเครือเขาหนังหรือเครือค้องแกบ ส่วนในภาคกลางเรียกเถาวัลย์เปรียงแดงและเถาวัลย์เปรียงขาว (ตามสีของเนื้อไม้ โดยที่มีสีแดงมักจะหายาก ส่วนใหญ่ใช้ชนิดสีขาว เพราะหาได้ง่ายกว่า)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 ระบุไว้ว่า “เถาวัลย์เปรียง น. ชื่อไม้เถาเนื้อแข็งชนิด Derris Scandens (Roxb.) Benth. ในวงศ์ Leguminosae เถาใช้ทำยาได้”, ส่วนทางภาคอีสานมักจะเรียกเครือตาปลาว่า “เครือตาปลาโคก” (ที่เกิดบนบก) และเรียก “เครือตาปลาน้ำ” (ที่เกิดในที่ลุ่ม) ตำราบางเล่มระบุชื่อวงศ์ของเถาวัลย์เปรียงว่าอยู่ในวงศ์ Papilionaceae
เถาวัลย์เปรียงเป็นไม้เถาเลื้อย มักจะพาดพันไปตามต้นไม้ใหญ่ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ปลายใบแหลม แต่ละก้านมีใบย่อย 7-9 ใบ ดอกมีสีขาวเป็นพวงสวยงาม จานรองดอกเป็นสีม่วง ปลายกลีบดอกมีสีชมพูเรื่อๆ มักขึ้นเองตามป่าละเมาะหรือตามจอมปลวกชายป่า เนื้อเถาไม้จะเป็นวง ชนิดขาวมีเนื้อไม้สีเหลืองอ่อน แต่ชนิดแดงมีเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้ม
หมอพื้นบ้านใช้เถาต้มดื่มเป็นยาถ่ายเสมหะ (แก้เสมหะพิการ) ถ่ายเส้น ทำให้เส้นอ่อนและหย่อนดี ช่วยขับปัสสาวะ เหมาะที่จะใช้ในเด็ก เช่น โรคหวัด โรคไอ และใช้แก้อาการเมื่อยขบในผู้สูงอายุ นับเข้าเป็นสมุนไพรเพื่อการถ่ายกษัย ถ่ายเส้น และแก้เส้นเลือดขอด
เถามีรสเฝื่อนเอียน ต้มดื่มแก้กษัย เส้นเอ็นขอด ถ่ายเสมหะ (ไม่ใช่ถ่ายอุจจาระ) แก้เมื่อยขบ เป็นยาบำรุงกำลังและแก้เหน็บชา รากมีรสเฝื่อนเมา ใช้ขับปัสสาวะและเป็นยาอายุวัฒนะ แต่มีพิษต่อปลา จึงมีคนใช้เบื่อปลาเช่นเดียวกับหางไหล
คนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบภาคกลาง) ไม่ทราบว่ายอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนของเถาวัลย์เปรียง สมารถนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกได้ มีรสมันๆ ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูฝน
สำหรับสารสำคัญที่พบในเถาและรากนั้น ประกอบไปด้วย fiavonol (scadenin, nalanin, chandalone, lonchocarpenin, osajin, robustic acid, scandenin, scandenone, scandinone) – ที่มา: เภสัชเวทกับตำรายาแผนโบราณ โดยจินดาพร ภูริพันฒนาวงษ์, สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2539
ที่มา: นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 24 ฉบับที่ 534 เดือนกันยายน 2555