ขณะที่เรื่องความสะอาดของน้ำประปาเป็นที่ยอมรับได้ของคนส่วนใหญ่ และยังได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลถึงอันตรายของคลอรีนในน้ำประปา โดยเฉพาะประเด็นการทำปฎิกิริยากับความร้อนในการหุงต้ม ที่ลือกันว่า อาจปลี่ยนคลอรีนเป็นสารก่อมะเร็ง ล่าสุด หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกับการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ได้นำเสนอข้อมูลโดยอ้างอิงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการทดสอบ พบว่า สารไตรฮาโลมีเทน ในผลการทดสอบทุกตัวอย่างมีระดับต่ำ ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอย่างแน่นอน..
ทั้งนี้ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US-EPA) กำหนดความเข้มข้นสูงสุดของไตรฮาโลมีเทนในน้ำดื่มไว้ไม่เกิน 0.08 มก./ลิตร ซึ่งผู้บริโภคจะต้องดื่มน้ำนานถึง 252 ปี จึงจะมีความเสี่ยง ในการเกิดโรคมะเร็งได้
โดยหากต้องการความมั่นใจ การกำจัดสารฮาโลมีเทน สามารถทำได้ ด้วยวิธีการ ดังนี้
1. การต้ม ลดได้ร้อยละ 93.40
2. การผึ่งแดด ลดได้ร้อยละ 69.47
3. ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง ลดได้ร้อยละ 54.31
4. กรองด้วยเครื่องกรอง ลดได้ร้อยละ 48.60
5. แช่แข็ง ลดได้ร้อยละ 31.06
ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า เมื่อนำน้ำประปามาต้ม คลอรีน และสารไตรฮาโลมีเทน จะลดลง ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และเพื่อความมั่นใจในการบริโภคน้ำประปา ผู้บริโภคควรสังเกตคุณภาพในเรื่องความสะอาด โดยเปิดน้ำใส่ภาชนะ และสังเกตว่าต้องใส ไม่มีตะกอนเจือปน และหากมีกลิ่นคลอรีน แสดงว่าน้ำได้ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว