นักดาราศาสตร์ไทย สามารถค้นพบดาวแปรแสงดวงใหม่ครั้งแรกในโลก “เมื่อเดือนธันวาคม 2555 นายสมสวัสดิ์ รัตนสูรย์ เจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หนึ่งในคณะผู้วิจัย ได้ถ่ายภาพดาว R CMa ด้วยฟิลเตอร์ B ต่อกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.5 เมตร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นเวลา 5 คืน เมื่อวัดความสว่างดาว TYC 5965-2398-1 เทียบกับดาวดวงอื่น พบคาบการเปลี่ยนแปลงความสว่าง 0.303 วัน และระดับความสว่างเปลี่ยนไปประมาณ 0.09 แมกนิจูด สอดคล้องกับลักษณะดาวคู่ แบบ W Uma ซึ่งเป็นระบบดาวที่มีดาวฤกษ์ 2 ดวงโคจรรอบกันและอยู่ใกล้กันมากจนเห็นเป็นดาวดวงเดียวเมื่อมองจากโลก แต่ระบบดาวนี้จะแปรความสว่างตามรอบโคจร เมื่อทั้งคู่เคลื่อนมาบังกันจะสว่างน้อยที่สุด แต่เมื่อไม่บังกันก็สว่างมากที่สุด
ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้วิจัยอีกท่านหนึ่ง อธิบายเพิ่มเติมว่า ดาวแปรแสงเป็นดาวฤกษ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างซึ่งอาจเกิดจากสมบัติทางกายภาพของดาว หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอก ปัจจุบันมีโอกาสค้นพบดาวแปรแสงดวงใหม่น้อยมาก เพราะกล้องโทรทรรศน์ในต่างประเทศถูกใช้ในงานวิจัยหลากหลาย การสังเกตการณ์วัตถุใดวัตถุหนึ่งต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงน้อยมาก ดาวแปรแสงที่พบใหม่ดวงนี้เป็นผลพลอยได้จากงานวิจัยไทย เนื่องจากทีมนักดาราศาสตร์ไทยกำลังติดตามสังเกตดาวแปรแสงอีกดวงหนึ่งอยู่ จึงค้นพบดาวแปรแสงดวงนี้โดยตรวจสอบภาพถ่ายที่ถ่ายต่อเนื่องกัน 5 คืน มากกว่า 4,000 ภาพ