สธ.เตรียมชงครม. ออกกฎหมายคุมปริมาณเกลือ-โซเดียมในอาหารสำเร็จรูป นำร่องอาหารกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว ความเค็มต้องไม่เกิน 20% ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำ-ปรับ หลังพบคนไทยกินเค็มเกินมาตรฐาน 2 เท่า ป่วยโรคไตเพิ่ม 15% ต่อปี สวัสดิการค่ารักษารวมกันกว่าปีละ 5 พันล้าน
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงวานนี้ (4 เม.ย.) ในงาน “รามาธิบดีกับการผลักดันวาระแห่งชาติ เรื่องการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม” ว่าขณะนี้สำนักควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันกฎหมายควบคุมอาหารสำเร็จรูปให้มีปริมาณเกลือและโซเดียมไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด นำร่องในกลุ่มอาหารกระป๋อง และขนมขบเคี้ยว
โดยให้มีปริมาณเกลือโซเดียมไม่เกิน 20% หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำ และปรับ ซึ่งอัตราการปรับอาจขึ้นอยู่กับระดับความเค็มที่เกินเกณฑ์อยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
“การลดการบริโภคเกลือ โซเดียม เพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ สธ. จะดำเนินการเพียงลำพังไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำกับอาหาร ร้านจำหน่ายอาหารให้ผสมเกลือและโซเดียมไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด” นพ.อัษฎางค์กล่าว
ด้าน นพ.สุรศักดิ์ กันชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าปัจจุบันคนไทยบริโภคเกลือเกินจากปริมาณที่กำหนด 2 เท่า ทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา โดยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 11 ล้านคน ผู้ป่วยโรคไตรายใหม่เพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้รวมกันทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม เป็นเงินจำนวนกว่า 5 พันล้านบาท
เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหัวใจ อัมพาต นอนติดเตียงรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ผู้มีปัญหาเริ่มแรกจะมีความดันโลหิตสูง จากนั้นการทำงานของไตจะมีปัญหาจะเริ่มบวม ไข่ขาวในปัสสาวะรั่ว ส่วนใหญ่มาพบว่าไตมีปัญหาการทำงานไปแล้วกว่า 70% คนที่มีปัญหาพบว่าส่วนใหญ่กินเค็มมาตลอดชีวิต โดยพบผู้ป่วยอายุน้อยสุดที่มาฟอกเลือดที่โรงพยาบาลรามาฯ อายุเพียง 27 ปี ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกันในการลดการบริโภคเต็มลง
“ส้มตำที่คนไทยชอบรับประทานเค็มมากน้ำปลา น้ำปลาร้า ปูดอง ต่างก็ให้ความเค็มมาก ถ้ากินเส้นและส่วนประกอบอื่นๆ ก็จะได้รับความเค็มประมาณ 20% แต่ถ้าเอาน้ำส้มตำมาคลุกข้าวกินจะได้รับความเค็ม 100% ดังนั้นเวลาสั่งส้มตำหรือแม้แต่อาหารอื่นๆ ขอให้สั่งติดปากเลยว่าไม่เค็ม ไม่ใส่ผงชูรส ทั้งนี้ วิธีสังเกตว่าตนเองรับประทานหรือไม่ นั้นคือดื่มน้ำบ่อย ตัวบวม ความดันเพิ่ม เป็นต้น ในส่วนของโรงพยาบาลรามาฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยให้ความรู้บุคลากร และเอาเกลือ น้ำปลาออกจากชั้นเครื่องปรุง” นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ กล่าวว่า มี 3 กลุ่มที่ต้องขับเคลื่อนในเรื่องการลดบริโภคเค็ม คือ 1.แม่บ้าน พ่อบ้านที่ทำกับข้าวที่บ้าน 2.ร้านอาหารต่างๆ และ 3.อุตสาหกรรมอาหาร ต้องคุมการผลิตอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมต่ำ
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกแตกต่างคือค่อยๆ ลดความเค็มลง เช่นหากเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอาจจะลดเค็มลงในปีแรก 10% เมื่อรับประทานจะไม่รู้สึกแตกต่าง พอลิ้นปรับการรับรสแล้ว ปีต่อมาก็ลดลงอีก 10% เป็นต้น หรือการปรุงอาหารหากเคยใส่เกลือลงไป 1 ช้อน ก็ลดเหลือค่อนช้อน จากนั้นประมาณ 3 เดือนก็ค่อยๆ ลดลงอีกทีละนิด เป็นต้น