จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ในวันที่ 1 มกราคม 2556 โดยให้กระทรวงพลังงานเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้เกิดการใช้และยอมรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์และจักรยานให้มากขึ้น รวมทั้งหามาตรการเข้าช่วยเหลือในกลุ่มผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินดังกล่าว เนื่องจากข้อกำจัดในด้านเครื่องยนต์ทำให้ไม่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ จึงได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์บริการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ (ระยะที่ 1) ขึ้น ครอบคลุมรถยนต์เก่า รถยนต์ 2 จังหวะ และเครื่องยนต์การเกษตรขนาดเล็ก
พล.ต.ท.ดร.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อมีการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 แล้ว จะทำให้มีแก๊สโซฮอล์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการใช้เอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตได้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น และจะช่วยให้แผนส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ระยะ 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) ที่กำหนดเป้าหมายให้มีการใช้เอทานอลไม่น้อยกว่า 9 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี พ.ศ.2564 เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ โดยเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างเสถียรภาพให้กับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จากการยกเลิกการใช้เบนซินดังกล่าวจะทำให้ยอดขายน้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ที่มีอยู่ 7-8 ล้านลิตรต่อวัน จะถูกถ่ายโอนไปยังแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของคุณมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ที่มองว่า การยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 จะส่งผลดีในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างเอทานอล ที่ใช้ผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น คาดว่ายอดการใช้แก๊สโซฮอล์จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านลิตรต่อวัน และช่วยให้การใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น 500,000 ลิตรต่อวัน โดยปัจจุบันมีการใช้เอทานอลอยู่ประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านลิตรต่อวัน แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนที่เคยใช้น้ำมันเบนซิน 91 ว่าจะหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากน้อยเพียงใด
แน่นอนว่าเมื่อยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน ออกเทน 91 ก็จะมีผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 เดิมอยู่บางส่วนได้รับผลกระทบ เนื่องจากข้อจำกัดในด้านเครื่องยนต์ทำให้ไม่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์บริการปรับแต่ง เครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ (ระยะที่ 1) ขึ้น ซึ่งมีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ
• กลุ่มรถยนต์ที่ผลิตก่อน พ.ศ.2538 ตามข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก พบว่ารถยนต์กลุ่มนี้เป็นรถยนต์ที่ไม่รองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ มีอยู่ประมาณ 500,000 คัน ที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
• กลุ่มรถยนต์ 2 จังหวะ ที่ผลิตก่อนปี พ.ศ.2543 มีเหลืออยู่ราวประมาณ 500,000 คัน
• กลุ่มเครื่องยนต์การเกษตรขนาดเล็ก เช่น เครื่องพ่นหญ้า เครื่องตัดหญ้า เครื่องพ่นแมลง เป็นต้น มีอยู่ประมาณ 500,000 – 1,000,000 เครื่อง ที่ไม่สามารถรองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้
เบื้องต้น พพ. จะเร่งเยียวยาผลกระทบจากทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นจากการยกเลิกเบนซิน 91 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และสถาบันการศึกษาของรัฐ เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษา จัดให้มีโครงการจัดตั้งศูนย์บริการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ ผ่านทางสถาบันการศึกษาดังกล่าวกว่า 200 แห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2556 รวมระยะเวลา 4 เดือน เพื่อให้บริการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้จริง ซึ่งในการปรับแต่งเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์เพื่อรองรับการกัดกร่อนน้ำมันเชื้อเพลิงในห้องเผาไหม้ และพลังไฟฟ้าในการจุดระเบิดเครื่องยนต์ให้เหมาะสมนั้น ใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที ส่วนรถจักรยานยนต์ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที เครื่องมือทางการเกษตรจะเป็นเครื่องยนต์เกษตรแบบ 2 จังหวะเท่านั้น ที่จะต้องนำมาปรับแต่งใหม้ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ซึ่งรถที่เข้าร่วมโครงการจะประหยัดรายจ่ายจากที่เติมเบนซิน 91 มาเป็นแก๊สโซฮอล์ประมาณ 15,000 บาทต่อคันต่อปี
ทั้งนี้ พพ. จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของค่าแรงในการปรับแต่งเครื่องยนต์ทั้งหมด โดยจะใช้เงินในส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 66 ล้านบาท ในการดำเนินการสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายค่าแรงแก่นักศึกษาอาชีวะที่เข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็นค่าแรงในการดำเนินการปรับเปลี่ยนของรถยนต์อยู่ที่คันละ 600 บาท จักรยานยนต์ 200 บาท เครื่องยนต์การเกษตร 100 บาท ส่วนค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ เจ้าของรถยนต์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง เช่น กรองเบนซิน กรองน้ำมันเครื่อง หัวเทียน น้ำมันเครื่อง เป็นต้น ราคาเฉลี่ยประมาณ 1,500 – 2,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ราคาไม่เกิน 450 บาทต่อคัน
เจ้าของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมไปถึงเกษตรกรเจ้าของเครื่องมือทางการเกษตร สามารถนำเครื่องยนต์มารับบริการได้ โดยไม่เสียค่าแรง เพียงนำหลักฐานสำเนาทะเบียนรถยนต์หรือสำเนารถจักรยานยนต์ และสำเนาบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ มายื่นแจ้งความจำนงขอเข้าร่วมโครงการนี้ได้เลย ซึ่งหากมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก พพ. ก็อาจจะเปิดระยะที่ 2 ต่อไป
ผู้สนใจที่มีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ 3 ช่องทางด้วยกัน คือ
• ช่องทางแรกผ่านทางศูนย์บริการใกล้บ้าน โดยสามารถสังเกตได้จากป้ายโครงการที่ติดหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลที่เข้าร่วมโครงการ
• ช่องทางที่ 2 ผ่านทาง Call Center ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่เบอร์ 02-555-2620
• ช่องทางสุดท้าย ผ่านทางศูนย์บริการข้อมูลของ พพ. ที่เบอร์ 02-223-3344 หรือที่ Hotline หมายเลข 081-938-8927, 081-938-8312 และ 081-938-8669
ที่มา: นิตยสาร Engineering Today ปีที่ 11 ฉบับที่ 121 เดือนมกราคม 2556