โรคภูมิแพ้ขนสัตว์ จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากการแพ้ขนของสัตว์โดยตรง แต่เราแพ้โปรตีนสารก่อภูมิแพ้ที่เกาะอยู่ตามขนสัตว์ ซึ่งแหล่งกำเนิดอาจมาจากผิวหนัง ปัสสาวะ หรือน้ำลาย หากเราเข้าไปคลุกคลีสัมผัสหรือสูดหายใจเอาโปรตีนที่เกาะอยู่ตามขนสัตว์เข้าไป อาจทำให้เกิดอาการของภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก ตาแดง คันตา หรือมีอาการทางผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณไปที่สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
- แยกพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง
ไม่ควรเอาสัตว์เลี้ยงเข้ามาในห้องนอน ควรกั้นโซนที่เป็นที่เลี้ยงดูหรือที่นอนสำหรับหมาแมวเอาไว้โดยเฉพาะ ถ้าเป็นไปได้ แยกชั้นระหว่างที่นอนที่อยู่ของหมาแมว กับห้องนอนของเราคนละชั้นไปเลยได้ยิ่งดี สำหรับคนที่อยู่ในคอนโดที่เลี้ยงสัตว์ได้ การนำสัตว์เข้าไปอยู่ในคอกที่กั้นไว้โดยเฉพาะ จะช่วยลดความเสี่ยงในการสูดหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายได้ - อาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง นอกจากจะแนะนำให้อาบน้ำสัตว์เลี้ยงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งแล้ว ควรอาบอย่างน้อยครั้งละ 3 นาที เพื่อเป็นการชะล้างสารที่ก่อภูมิแพ้จากขนสัตว์ออกไป สามารถอาบน้ำด้วยน้ำเปล่า มีหรือไม่มีแชมพูก็ได้ เพราะสารก่อภูมิแพ้สามารถละลายในน้ำได้ดี หากอาบน้ำด้วยวิธีแช่ เอาตัวแช่ลงไปในน้ำ นำเฉพาะส่วนศีรษะโผล่พ้นน้ำ แล้วใช้น้ำชำระสิ่งสกปรกบนศีรษะด้วยการวักน้ำราด 2-3 ครั้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังอาบน้ำ สารก่อภูมิแพ้ในขนสัตว์จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่อีกไม่เกิน 1 สัปดาห์ผิวหนังของสัตว์จะผลิตสารก่อภูมิแพ้ขึ้นมาอีก ดังนั้นจึงต้องหมั่นอาบน้ำสัตว์เลี้ยงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
- เก็บสิ่งของที่กักเก็บฝุ่นออกจากห้องสิ่งของที่ไม่ควรจะมีอยู่ในบ้านของผู้ที่เลี้ยงสัตว์ คือของที่กักเก็บฝุ่น เช่น หนังสือ ตุ๊กตา พรม โดยเฉพาะพรมที่ควรนำออกมาจากห้องที่เราใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในห้องนั้นๆ นานที่สุด
- เลือกเครื่องฟอกอากาศ และเครื่องดูดฝุ่นให้เหมาะสม เครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสมในการช่วยลดสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์เลี้ยง คือเครื่องที่มีแผ่นกรองแบบ HEPA filter (แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง) เพื่อดักจับสารก่อภูมิแพ้ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกันกับที่ช่วยลดฝุ่น PM2.5 รวมถึงเครื่องดูดฝุ่นก็ควรเลือกที่เป็น HEPA vacuum cleaner ซึ่งจะมีแผ่นกรองที่ช่วยดักจับสารก่อภูมิแพ้ให้เข้าไปด้านใน ไม่หลุดออกมาสู่ด้านนอกตามพื้นต่างๆ อีกครั้ง
- วัคซีนภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ คือการฉีดโปรตีนจากสัตว์เลี้ยงเข้าไปในเจ้าของ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันของเราสร้างจากข้างใน ช่วยลดอาการ และความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในสัตว์เลี้ยง และยังลดการใช้ยาได้ด้วย การฉีดวัคซีนภูมิแพ้สามารถนำได้ในผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นในระดับหนึ่ง เช่น อาจจะต้องอยู่แยกกับหมาแมวก่อนสักพัก ร่วมกับการให้ยารักษาจนอาการดีขึ้นในระดับหนึ่ง จากนั้นจึงสามารถรับวัคซีนภูมิแพ้ได้แต่คนที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว ก็ยังต้องอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงด้วยการปฏิบัติตัวตามทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาในข้างต้น