ฉลากบนภาชนะบรรจุของอาหาร แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ฉลากอาหาร และฉลากโภชนาการ ซึ่งมีข้อมูลที่แตกต่างกันไป
ฉลากอาหารจะแสดงข้อมูลด้านความปลอดภัย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง คำเตือนต่าง ๆ ข้อมูลด้านความคุ้มค่า ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบ ซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนัก หรือปริมาตร)
ฉลากโภชนาการ จะแสดงข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร โดยระบุชนิดและปริมาณสารอาหารที่เราจำเป็นต้องรู้ก่อนซื้อมากิน ปริมาณสารอาหารที่เราจะได้รับ ต่อการกิน 1 หน่วยบริโภค ซึ่งข้อมูลที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงให้มากก็คือ ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม พวกนี้ถ้ามีมากไปก็ไม่ดี แต่ถ้าเป็นไฟเบอร์ หรือกากใยอาหาร รวมไปถึงวิตามิน มีมากก็ยิ่งดี
โดยปริมาณพลังงานที่ควรจะได้ใน 1 วันคือ 2,000 กิโลแคลอรี (ค่าเฉลี่ยความต้องการสารอาหารที่แนะนำให้คนไทย) ควรควบคุมไม่ให้กินมากไปกว่านี้ (ยกเว้นถ้าคุณคือนักกีฬา ทหารฝึกหนัก หรือผู้ใช้แรงงาน) ส่วนที่ต้องควบคุมให้ดีก็คือ ไขมัน คอเลสเตอรอล และโซเดียม สาเหตุโรคไต และความดันสูง ควรจะกินให้น้อยกว่าปริมาณสูงสุดที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน อีกตัวเลขหนึ่งที่ไม่ควรเกินคือน้ำตาล ไม่ควรกินเกิน 24 กรัมต่อ 1 วัน ถ้าหากใครคิดว่าตารางโภชนาการแบบเต็มอ่านยากเกินไป เขาก็มีตารางแบบย่อมาให้อ่านง่ายขึ้นด้วย โดยเน้นเฉพาะสารอาหารที่จำเป็นต้องควบคุมแค่ 4 ชนิดคือ พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แปะให้ดูง่าย ๆ ที่ด้านหน้าซองหรือภาชนะบรรจุภัณฑ์