วันที่ 21 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติรับทราบมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2558 กำหนดรายละเอียดให้รับไปปฏิบัติ ให้สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดเป็นนโยบายหลักให้การเดินและการใช้จักรยานเป็น วิธีการเดินทางระยะสั้นที่สำคัญ และทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานภาครัฐให้นำนโยบายไปปฏิบัติ โดยให้กระทรวงคมนาคม ส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะด้วยการเดินเท้าและการใช้จักรยาน โดยให้ความรู้ เน้นความสำคัญต่อผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานทุกกลุ่มทุกคนในการสอบเพื่อขอใบอนุญาตขับขี่ยานยนต์ทุกชนิด
ครม. แสดงออกถึงความจริงจังในการให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานและการเดิน โดยให้กระทรวงการคลัง จัดหามาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ให้กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แก้ไขกฎกระทรวง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและข้อบัญญัติท้องถิ่นให้เจ้าของอาคารขนาดใหญ่ อาคารสาธารณะ และสถานีขนส่ง จัดให้มีที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัยและเพียงพอ และกำหนดให้จังหวัดมีหน้าที่สนับสนุนการเดินทางเท้าและการใช้จักรยานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ด้าน น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในส่วนของ กทม. เล็งเห็นความสำคัญมาโดยตลอด โดยได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ ด้วยการเปิดโครงการจักรยานสาธารณะปันปั่น เพื่อให้ประชาชนเช่าจักรยานในการเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนสาธารณะไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นมา โดยเปิดให้บริการไปแล้วบนถนนสาทรเหนือ ถนนสาทรใต้ ถนนพระราม 4 ถนนพญาไท ถนนพระรามที่ 1 ถนนราชดำริ ถนนสีลม ถนนนราธิวาส ถนนวิทยุ ถนนเพลินจิต 17 จุด ได้แก่ สถานีจามจุรีสแควร์ สถานีสยามสแควร์ สถานีสยามเซ็นเตอร์สถานีจุฬาฯ 1 (หน้าคณะวิทยาศาสตร์) สถานีจุฬาฯ 2 (ตรงข้ามเตรียมอุดม) สถานีสยามพารากอน สถานีมาบุญครอง สถานีเซ็นทรัลเวิลด์ 1 (ถนนพระรามที่ 1) สถานีเซ็นทรัลเวิลด์ 2 (ถนนราชดำริ) สถานีสยามเซ็นเตอร์ สถานีคอนแวนต์ (สาทรเหนือ) และสถานีอาคารรัจนาการ(สาทรใต้) สถานีกรุงศรีฯ (เพลินจิต) และสถานีร่วมฤดี สถานีสาทรธานี สถานีเซ็นหลุยส์ สถานีปาร์คเวนเจอร์อีโคเพล็กซ์ และสถานีออลซีซันเพลส
ทั้งนี้จะพิจารณาศึกษาจุดให้บริการเพิ่มเติมตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงเส้นทางจักรยานชุมชน ซึ่งได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 6 กลุ่มโซน ให้สำรวจพื้นที่ ตรอก ซอก ซอย หรือหากบางเส้นทางมีทางจักรยานอยู่แล้วก็ให้สำรวจว่ามีปัญหาด้านใดบ้าง เพื่อพัฒนาสร้างเส้นทางจักรยานให้เชื่อมต่อกับถนนสายหลักและระบบขนส่งมวลชน สาธารณะให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน ทั้งนี้ได้มีสถาบันการศึกษา 6 แห่งจะร่วมศึกษาพื้นที่กับสำนักงานเขตในการปรับปรุงเส้นทางจักรยาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งได้จัดทำแผนที่เส้นทางจักรยานมาร่วมนำเสนอให้ กทม. พิจารณาด้วย
- หน้าหลัก
- เกี่ยวกับเรา
- โครงการ
- งานศึกษา / ออกแบบสถาปัตยกรรม
- งานวิศวกรรมโยธา / โครงสร้าง
- งานควบคุมและบริหารงานก่อสร้าง
- เศรษฐศาสตร์และการวางแผนพัฒนา
- งานศึกษาและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
- การพัฒนาการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม
- โครงการในต่างประเทศ / เงินช่วยเหลือกองทุนต่างประเทศ
- การจัดการระบบข้อมูลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
- งานวิศวกรรมเครื่องกล / ไฟฟ้า / อนุรักษ์พลังงาน
- งานวิศวกรรมพลังงาน / ปิโตรเคมี
- โครงการพิเศษ / การวิจัยและพัฒนา
- งานวิศวกรรมสำรวจ
- งานวิศวกรรมขนส่ง / สาธารณูปโภค
- การวางผังเมือง / ชุมชน
- งานศึกษาและวิศวกรรมแหล่งน้ำ
- สำนักวิชาการ ซี โอ ที (COT Academy)
- ข่าวสาร
- เอกสารเผยแพร่
- ตำแหน่งงานว่าง
- ติดต่อเรา