ทราบหรือไม่ว่า ประเทศใดเหมาะสมที่สุดสำหรับ “การเกิด” ในปี 2556 … จากการสำรวจของ “อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต” (Economist Intelligence Unit: EIU) หน่วยงานวิจัยในเครืออีโคโนมิสต์ กรุ๊ป ผู้บริหารนิตยสาร “ดิ อีโคโนมิสต์” ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยประเมินศักยภาพของ 80 ประเทศทั่วโลกในด้านต่างๆ รวม 11 ด้าน เช่น ความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนในประเทศต่อรัฐบาลของตนเอง ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ สัดส่วนประชากรที่มั่งคั่ง สถิติการเกิดอาชญากรรม คุณภาพชีวิตของครอบครัว เป็นต้น โดยมีคะแนนให้เต็ม 10 คะแนน
พบว่า “สวิตเซอร์แลนด์” เป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการเกิดในปี 2556 โดยได้คะแนนสูงสุดที่ 8.22 คะแนน เพราะแม้จะมีประชากรเพียง 8 ล้านคน แต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก ตามมาด้วยออสเตรเลีย ได้ 8.12 คะแนน นอร์เวย์ 8.09 คะแนน สวีเดน 8.02 คะแนน และเดนมาร์ก 8.01 คะแนน
ส่วนอันดับ 6-10 ได้แก่ สิงคโปร์ 8.0 คะแนน นิวซีแลนด์ 7.95 คะแนน เนเธอร์แลนด์ 7.94 คะแนน แคนาดา 7.81 คะแนน และฮ่องกง 7.80 คะแนน ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 16 ร่วมกับเยอรมนี ด้วยคะแนน 7.38 คะแนน อังกฤษ อันดับ 27 ได้ 7.01 คะแนน .
ประเทศอื่นในเอเชีย อย่างไต้หวัน อยู่อันดับที่ 14 ได้ 7.67 คะแนน เกาหลีใต้ อันดับ 19 ได้ 7.25 คะแนน ญี่ปุ่น อันดับ 25 ได้ 7.08 คะแนน มาเลเซีย อันดับ 36 ได้ 6.62 คะแนน จีน อันดับ 49 ได้ 5.99 คะแนน ฟิลิปปินส์ อันดับ 63 ร่วมกับศรีลังกา ได้ 5.17 คะแนน อินเดีย อันดับ 66 ได้ 5.67 คะแนน เวียดนาม อันดับ 68 ได้ 5.64 คะแนน ส่วนอินโดนีเซีย อันดับ 70 ได้ 5.54 คะแนน
สำหรับประเทศที่เหมาะสมน้อยที่สุดในโลกสำหรับการเกิดคือ ไนจีเรีย รั้งท้ายในอันดับที่ 80 ด้วยคะแนนต่ำสุดเพียง 4.74 คะแนน ตามด้วยเคนยา 4.91 คะแนน ยูเครน 4.98 คะแนน บังกลาเทศ 5.07 คะแนน แองโกลา 5.09 คะแนน ปากีสถาน 5.17 คะแนน คาซัคสถาน 5.20 คะแนน ซีเรีย 5.29 คะแนน รัสเซีย 5.31 คะแนน
ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 50 ของประเทศที่ดีที่สุดในโลกสำหรับ “การเกิด” ในปี 2556 และอยู่ในอันดับที่ 11 ของเอเชีย ซึ่งจากการประเมินของทีมผู้เชี่ยวชาญ “ดิ อีโคโนมิสต์” ให้คะแนนไทยที่ 5.96 คะแนน เฉือนเอาชนะตุรกี อันดับ 51 ที่ได้ 5.95 คะแนน
สาเหตุสำคัญที่ฉุดรั้งประเทศไทยคือ ปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศสั่นคลอน และคุณภาพชีวิตของประชาชนลดลง
ผู้เขียนคิดว่า บรรยากาศทางการเมืองในประเทศ ลดดีกรีความร้อนแรงลงไปมากแล้ว ผู้คนนอกประเทศยังมองไทยว่าความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่คลี่คลาย ผู้คนยังแบ่งแยกออกเป็นหลายสี ความรัก ความสามัคคีในหมู่คนไทยแทบจะเหือดหายไปสิ้น แล้วถ้าความขัดแย้งทางการเมืองไทยเกิดประทุขึ้นอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน จนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ยาวนาน และเกิดความรุนแรงแบบเลือดตกยางออกหรือมีคนตายขึ้นอีก “ถึงวันนั้น เชื่อเหลือเกินว่า อย่าว่าแต่น่ามาเกิดเลย ประเทศไทยคงไม่มีใครคิดที่จะมากิน มาอยู่ มาเที่ยว มาลงทุน หรือแม้แต่แวะมาเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินเลยด้วยซ้ำ”.
ที่มา: คอลัมภ์กระจก 8 ด้าน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2555