
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา กระทรวงคมนาคมเตรียมปรับแผนโครงการ ด้วยการขยายระยะเวลาสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรไปอีก 2 เดือน โดยจะต้องเจรจาให้แล้วเสร็จพร้อมลงนามภายในเดือน พ.ย. 62 นอกจากนี้ ยังมีการปรับกรอบวงเงินจากสัญญา 2.3 จากเดิม 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633 ล้านบาท โดยการโยกงบก่อสร้างมาใช้ในสัญญางานระบบ 7,000 ล้านบาท เปลี่ยนรุ่นตัวรถไฟไฮสปีดเป็นรุ่นใหม่ 3,400 ล้านบาท ปรับรูปแบบรางบางส่วนอีกราว 1,600 ล้านบาท ส่วนการเปิดประมูลงานก่อสร้างภายในเดือน ธ.ค.นี้ ทั้ง 14 สัญญา มูลค่ารวม 179,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถเปิดใช้ตามกำหนดในปี 2566
จากการรายงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) งานโยธา 14 สัญญา พบว่า ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างการเห็นชอบผลประมูล 5 สัญญาและอยู่ระหว่างเปิดประมูล 5 สัญญา ส่วนสัญญาที่ยังไม่ได้เข้าสู่การประมูลเพราะติดปัญหามี 2 สัญญา ได้แก่
1.สัญญางานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงที่เชียงรากน้อย วงเงิน 6,100 ล้านบาท โดยสั่งการเร่งรัดให้ประมูลภายในเดือน ก.ย.นี้
2.งานก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ต้องชะลอการประมูลออกไปเป็นช่วงไตรมาสุดท้ายของปี 2562 เพื่อรอเจรจากับกลุ่มซีพี เนื่องจากต้องใช้โครงสร้างเดียวกันกับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ทั้งนี้คาดว่าโครงการรถไฟไฮสปีดอีอีซีจะลงนามได้ในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบวงเงินโครงการจัดจ้างเอกชนศึกษาออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มูลค่า 751 ล้านบาทโดยกำหนดระยะเวลาศึกษา 19 เดือน ซึ่งปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดเตรียมเอกสารดำเนินการจ้างที่ปรึกษา
ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/283663
วันที่ 6 กันยายน 2562