บีโอไอจับมือฮามาอัตสึ ดึงเอสเอ็มอีเทคโนโลยีชั้นสูงเข้าไทย
“บีโอไอ” ระบุทุนจีนแซงหน้าขึ้นเบอร์ 1 ลงทุนในไทยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ญี่ปุ่นร่วงอันดับ 3 คาดหลังนโยบายลงทุนฉบับใหม่มีผลบังคับใช้นักลงทุนจากญี่ปุ่นจะแห่เข้ามาอีกมาก
แหล่งข่าวจากบีโอไอ กล่าวว่า การลงทุนของจีนนั้น ที่ผ่านมาบีโอไอได้เข้าไปดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตล้อยางขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 3 ราย และยังมีผู้ผลิตโซลาร์เซลล์จำนวนมาก ได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ของประเทศจีนได้ถูกประเทศแถบยุโรปออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ทำให้ผู้ผลิตหลายรายได้ย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทย ผ่านทางสิงคโปร์ เพื่อเลี่ยงการถูกมาตรการเอดีดังกล่าว
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภาวะการลงทุนรอบ 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ว่า สถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเดือน ม.ค.- ส.ค. มีโครงการที่ยื่นขอจำนวน 332 โครงการ มูลค่าการลงทุน 50,267 ล้านบาท โดยปีนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นร่วงลงมาจากอันดับ 1 มาอยู่อันดับที่ 3 โดยประเทศสิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 มีทั้งหมด 51 โครงการ เงินลงทุน 13,143 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากจีนผ่านมายังสิงคโปร์
อันดับ 2 ประเทศจีนมี 37 โครงการ เงินลงทุน 10,739 ล้านบาท อันดับ 3 ญี่ปุ่น มี 92 โครงการ เงินลงทุน 9,819 ล้านบาท เนื่องจากโครงการที่เข้ามาสวนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี และการเข้ามาตั้งสำนักงานกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และ กิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ที่มีเม็ดเงินลงทุนไม่มาก รวมทั้งที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้เข้าลงขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากแล้ว อันดับ 4 สหรัฐมี 13 โครงการ เงินลงทุน 6,573 ล้านบาท และ 5. ฮ่องกง มี 19 โครงการ ลงทุน 2,863 ล้านบาท
ส่วนยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด มีจำนวน 629 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.19 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโดยคนไทย 1.19 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโดยคนไทย 100% จำนวน 290 โครงการเงินลงทุน 6.66 หมื่นล้านบาท โครงการต่างชาติ 229 โครงการ เงินลงทุน 3.21 หมื่นล้านบาท และโครงการร่วมลงทุนไทย-ต่างชาติ 110 โครงการ เงินลงทุน 2.06 หมื่นล้านบาท
ประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุดคือกิจการบริการและสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมาเป็น เกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร โดยบีโอไอจะจับตาการส่งออกจากบริษัทเหล่านี้ไม่ให้ใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อทุ่มตลาดประเทศอื่น
ส่วนในปีหน้าจีนจะลงทุนเป็นอับดับหนึ่งหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถประเมินได้เพราะการลงทุนจากจีนจะเข้ามาเป็นระลอกแล้วแต่สถานการณ์ ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนอย่างมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบซูเปอร์คลัสเตอร์และคลัสเตอร์ รวม 7 กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว หลังจากนี้บีโอไอจะออกประกาศรายละเอียดเพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะสามารถเริ่มชักจูงการลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2559 นี้ โดยขญะนี้ก็มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นหลายรายได้เข้ามาหารือและแสดงความตั้งใจที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งบีโอไอจะออกไปชักจูงการลงทุนในอุตสากรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งญี่ปุ่นคือเป้าหมายหลักที่บีโอไอจะเดินทางไป
นางหิรัญญา กล่าวต่อว่า บีโอไอยังได้ขยายการลงนามกับต่างประเทศ ล่าสุดลงนามกับนายยาสุโมโตะ ซูซูกิ นายกเทศมนตรี เมืองฮามามัตสึ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยส่งเสริมการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเมืองนี้มีนักลงทุนชั้นนำทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องดนตรี ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนจากเมืองดังกล่าวเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 66 บริษัท อาทิ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) บริษัท โรแลนด์ ดิจิตอล กรุ๊ป (ประเทศไทย) บริษัท ไทยอาซาฮี เดนโซ ผลิตชิ้นส่วนยางยนต์
ด้านนายยาสุโมโตะ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งอยู่ใน 200 บริษัท สนใจเข้าลงทุนในไทยมากขึ้น