สำหรับในภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด จากการขับเคลื่อนผลิตภาพและยกระดับความสามารถการแข่งขันด้วยคนที่มีคุณภาพ ต่อเนื่องมาจาก 3 ยุคแรก คือ ยุคที่หนึ่ง “สหรัฐอเมริกา” ยุดแห่งการวางรากฐานการพัฒนาผลิตภาพ สู่กาจัดการอย่างเป็นระบบ ยุคที่สอง “ยุโรป” ยุคแห่งการพัฒนากรอบแนวคิดผลิตภาพ สู่แบบแผนที่นานาชาติยอมรับ และยุคที่สาม “ญี่ปุ่น” ประเทศที่ปฎิรูปแนวคิดตะวันตกสู่มิติใหม่ในแบบตะวันออก
คำกล่าวของศาสตราจารย์ พอล ครุกแมน (Paul Krugman) เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนิตรยสาร Foreign Affairs เมื่อปี ค.ศ. 1994 ที่ว่า “การเจริญเติบโตของภูมิภาคนี้แม้จะร้อนแรงแต่ไม่ยั่งยืน เพราะเป็นเพียงผลของการใช้ทรัพยากร (ปัจจัยการผลิตราคาถูก) ที่มากขึ้น ร่วมกับกระแสเงินทุนไหลเข้าเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการมีผลิตภาพที่สูงขึ้นแต่อย่างใด” แต่เป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ ที่ไม่ได้ฟูฟ่องหรือเติบโตจากฐานที่แข็งแรง
โดยพาดพิงถึงสิงคโปร์ในการอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว ทำให้นายกรัฐมนตรีลีกวนยู ในตอนนั้นถึงกับแสดงอารมณ์ไม่พอใจต่อความคิดเห็นนี้ทีเดียว
แต่ในที่สุดผู้นำหลายประเทศก็ยอมรับว่า นี่เป็นความจริง เมื่อวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้นในปี 1997 (หรือปี พ.ศ. 2540) หลังจากการตีพิมพ์ข้อเขียนดังกล่าว 3 ปี แม้ว่าผลของวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะมาจากระบบการเงินที่บกพร่อง และการถูกโจมตีค่าเงิน แต่ผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ขาดรากฐานที่แข็งแกร่งนี่เองที่ทำให้หลายประเทศต้องประสบหายนะทางเศรษฐกิจอย่างหนัก รวมถึงประเทศไทยด้วย
แม้ว่าสิงคโปร์จะไม่ได้รับผลกระทบมากมายนักจากวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ก็ทำให้ผู้นำประเทศเริ่มกลับมาให้ความเสนใจกับผลิตภาพและความสามารถการแข่งขันอย่างมาก อีกทั้งยังเริ่มต้นศึกษาและนำตัวชี้วัดผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity –TFP) มาใช้เป็นดัชนีที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง
สิงคโปร์จิ๋วแต่แจ๋ว มาทีหลังดังกว่า
สิงคโปร์เกาะเล็ก ๆ ที่ปลดแอกตัวเองจากอังกฤษ และสามารถสร้างชาติขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไร น้ำจืดก็ขาดแคลนถึงกับต้องซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน พื้นดินก็ไม่เหมาะและไม่มากพอสำหรับทำเกษตรกรรม ลำพังจะเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงคนในชาติยังไม่ได้ จะไปคิดสร้างรายได้จากการส่งออกคงไม่ต้องไปฝัน นอกจากอุตสาหกรรมแล้วภาคบริการดูจะเป็นทางออกเดียวเท่านั้นที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เพียงพอ
นับแต่วันนั้นสิงคโปร์จึงมุ่งสร้างจิตสำนึกของคนในชาติ ให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของผลิตภาพ (Productivity) ด้วยการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) มีแผนยุทธศาสตร์รองรับ และทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่องนับเป็นเวลาหลายสิบปี
จนทุกวันนี้ ค่านิยม ความคิด ความเชื่อ ดังกล่าวได้ฝังอยู่ในหัว (Mindset) จะทำสิ่งใดก็ตามทั้งชีวิตประจำวันและการทำงานจะต้องคำนึงถึงสองสิ่งนี้เสมอ คือ ประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Maximize Value) และใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าสิ้นเปลือง (Minimize Waste)
นายลีเซียนลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนปัจจุบัน เคยกล่าวว่า “บททดสอบจากความท้าทายที่สิงคโปร์เผชิญ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อันจำกัด อัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำและไม่สามารถพึ่งพาแรงงานต่างถิ่นได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว สิงคโปร์จะต้องปรับยุทธศาสตร์ด้านการเติบโต และหาหนทางใหม่ที่ดีกว่า ทำได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ จะต้องขยับไปสู่การเติบโตเชิงคุณภาพ ไม่ใช่แค่การขยายตัวในเชิงปริมาณ แต่ต้องยกระดับความสามารถขึ้นไป แรงงานไม่ว่าจะเป็นแรงงานท้องถิ่น หรือแรงงานต่างชาติจำเป็นต้องได้รับการยกระดับ อีกทั้งต้องเร่งสร้างมูลค่าให้ได้มากที่สุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ทุก ๆ ตารางนิ้วของผืนดินจะต้องใช้อย่างเหมาะสม กิจกรรมใด ๆ ที่ไม่มีผลิตภาพหรือไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาวจะต้องเอาออกไป”
ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตอกย้ำจุดยืนที่สิงคโปร์ทำมาตลอดหลายสิบปี นับตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ส่งไม้ต่อให้นาย โก๊ะ จ๊ก ตง สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งและแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเทศไทย คือ การดำเนินยุทธศาสตร์ด้านความสามารถการแข่งขัน (National Competitiveness) จะได้รับการต่อยอดและขยายวงกว้างออกไปให้กว้างขวาง ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทศวรรษต่าง ๆ
แม้ว่ายุทธศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันให้สิงคโปร์จะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร แต่หัวใจสำคัญคือ “ผลิตภาพ” ยังคงเป็นแกนหลักอยู่เสมอ
คนสิงคโปร์ที่เคยคุยกับผมได้สะท้อนภาพให้เห็นทัศนคติของคนสิงคโปร์ว่า พวกเขาจะต้องทำงานอย่างขยันขันแข็งและทุ่มเท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี โดยต้องมีวินัยแบบญี่ปุ่นหรือเยอรมณี โดยหวังว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบันได้พิสูจน์ให้เห็นบางส่วนแล้ว แต่ความสะดวกสบายที่มีในยุคนี้ กับคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับความมั่งคั่ง จะยั่งยืนและรักษาขีดความสามารถนี้ไว้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ
ซึ่งแน่นอนคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มองต่างกันอย่างแน่นอน