ลอสแองเจลิส – ประชาชนกว่า 2 ล้านคนใน 52 ประเทศทั่วโลกร่วมเดินขบวนประท้วงบริษัทมอนซานโต้ ผู้ผลิตพืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) พร้อมเรียกร้องให้มีการติดฉลากผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (26 พ.ค.) ว่า ประชาชนในหลายร้อยเมืองทั่วโลกร่วมเดินขบวนต่อต้านบริษัทมอนซานโต้ ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอรายใหญ่ของโลก การเดินขบวนจัดขึ้นใน 436 เมืองใน 52 ประเทศเมื่อวันเสาร์ (25 พ.ค.) โดยประเมินว่ามีผู้ร่วมเดินขบวนราว 2 ล้านคนที่มาร่วมแสดงพลังรณรงค์ให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพที่อาจจะได้รับจากการบริโภคพืชจีเอ็มโอ เช่นเดียวกับอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากการปลูกพืชจีเอ็มโอ
ขณะที่การประท้วงในกรุงบูเอโนสไอเรส เมืองหลวงประเทศอาร์เจนตินา มีการถือป้ายขับไล่บริษัทมอนซานโต้ออกไปจากกลุ่มประเทศอเมริกากลางด้วย
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ประเภทถั่วเหลืองและธัญพืชที่จำหน่ายในกรุงบูเอโนสไอเรสในปัจจุบันเกือบทั้ง 100% เป็นผลิตภัณฑ์จากพืชจีเอ็มโอ โดยปัจจุบันมีการพัฒนาพืชจีเอ็มโอเพื่อให้ต้านทานยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ และเพิ่มปริมาณสารอาหารในเมล็ดพืช เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด และฝ้าย
การประท้วงครั้งนี้ริเริ่มโดย น.ส.ทามิ คาแนล ด้วยการเปิดแฟนเพจในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ให้คนออกมาเดินขบวนประท้วงบริษัทมอนซานโต้ โดยมีนักเคลื่อนไหวอีกหลายคนร่วมสนับสนุน
นอกจากนี้ ผู้จัดงานยังรณรงค์ให้มีการติดฉลากระบุว่าเป็นอาหารจีเอ็มโอ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อ รวมทั้งขอให้มีการวิจัยเพิ่มเติมถึงอันตรายของอาหารจีเอ็มโอ และขอให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตตามธรรมชาติ และเลิกซื้อสินค้าของมอนซานโต้ ทั้งยังยืนยันว่าจะเดินหน้าจัดการประท้วงมอนซานโต้ต่อไปจนกว่าบริษัทจะดำเนินการตามที่ผู้บริโภคเรียกร้อง
ขณะที่บริษัทมอนซานโต้ ซึ่งมีสำนักงานในเมืองเซนต์หลุยส์ของสหรัฐ ยืนยันว่า เมล็ดพืชจีเอ็มโอช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และยังประหยัดน้ำและพลังงานอีกด้วย
ส่วนองค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) แห่งสหรัฐอเมริกาไม่บังคับให้มีการติดฉลากพืชจีเอ็มโอในอาหาร และกำลังถูกกดดันจากกลุ่มผู้บริโภคให้เอฟดีเอออกกฎให้มีการปิดฉลากอาหารที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ด้านองค์การอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพกล่าวว่า ทางกลุ่มให้การสนับสนุนการปิดฉลากพืชจีเอ็มโอโดยสมัครใจของเจ้าของผลิตภัณฑ์ แต่การออกกฎหมายบังคับให้มีการปิดฉลากจีเอ็มโอนั้นจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีฉลากนี้ไม่ปลอดภัย