คนไทยสุดเสี่ยง !! ผัก-ผลไม้ เต็มไปด้วยสารเคมี
เมื่อกล่าวถึงการรับประทานอาหารของคนไทย โดยเฉพาะผักและผลไม้ ว่ามีความปลอดภัยมากแค่ไหน กลายเป็นคำถามตัวโตๆ หลังมีการออกมาเปิดเผยข้อมูลของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) โดยระบุภาพรวมการตรวจผัก-ผลไม้ เมื่อพบว่ามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน (MRL) ถึง56% จากตัวอย่างผักทั้งหมดได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ มะเขือเทศ และผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร โดยเก็บตัวอย่างจากห้างโมเดริน์เทรด 3 ห้างหลัก ได้แก่ บิ๊กซี แม็คโคร เทสโก้โลตัส ตลาดค้าส่ง3ตลาด ได้แก่ ตลาดไท ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม และตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี ซึ่งสารเคมีที่พบในครั้งนี้เป็นสารเคมีประเภท สารที่ทำมาเพื่อฆ่า จำนวน 68 ชนิด
สำหรับตัวอย่างผักที่เก็บช่วงเดือน สิงหาคม 2559 พบว่าผัก-ผลไม้ทุกชนิดมีสารเคมี เกินค่า MRL และพบการตกค้างสูงกว่าตัวอย่างก่อนหน้าที่เก็บช่วงกลางเดือน มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยผักผลไม้ ที่ได้รับฉลาก Q นั้นเป็นกลุ่มที่มีปัญหามาก
อาจมีการตั้งคำถามว่าฉลากที่มีเครื่องหมาย Q และ Organic Thailand นั้นคืออะไร?
Organic Thailand หมายถึง ฉลากที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกเอาไว้ เพื่อรับรองว่าเป็นการปลูกโดยใช้วิธีการเกษตรอินทรีย์ โดยไม่มีการใช้สารเคมี
ส่วน Q นั้นมี 2 ประเภท ได้แก่
Q-GAP เป็นการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิตในระดับฟาร์ม เป็นการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร เมื่อผลผลิตออกจากแปลงต้องมีค่าสารเคมีตกค้างไม่เกินค่าที่กฏหมายกำหนด
Q-GMP เป็นการรับรองโรงตัดแต่งคัดบรรจุ ถูกต้องตามสุขอนามัย แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องมาจาก Q-GAP เท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบเพิ่มเติมอีกว่า มีสารตกค้างที่ประเทศของเราประกาศเลิกใช้ไปตั้งแต่ ปี 2547แล้ว แต่ยังมีการนำมาใช้อยู่อีกประมาณ 20% ซึ่งแสดงว่า ยังคงมีการลักลอบจำหน่ายและใช้สารเคมีดังกล่าวอยู่ ซึ่งเมื่อนำไปตรวจสอบพบว่า ผัก-ผลไม้ที่มีและไม่มีเครื่องหมาย มีสารพิษตกค้างเหมือนกัน แต่มากน้อยแตกต่างกันและระหว่างห้างสรรพสินค้ากับตลาดสด พบว่ามีสารพิษตกค้างแทบไม่ต่างกัน ส่วนผู้บริโภค ที่มีคำถามว่า แล้วสามารถที่จะฟ้องร้องได้หรือไม่ เพราะเท่ากับว่า ติดป้ายเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่มีสารพิษเท่ากับผักในตลาดแบบนี้ เป็นการหลอกลวงประชาชน ซึ่งตามกฏหมายแล้ว สามารถฟ้องร้องได้ โดยยื่นหนังสือไปที่ 4 หน่วยงานหลัก คือ คณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมวิชาการเกษตร คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค