“การเดิน” เป็นกิจกรรมทางกายประเภทหนักปานกลาง การเดินประจำเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น สุขภาพจิตดีขึ้น ลดความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า ลดน้ำหนักตัวโดยเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาล ลดระดับไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ลดภาวะกระดูกบางหรือผุกร่อน เป็นต้น การเดินเพื่อสุขภาพจะต้องเดินให้มากพอ ดังนี้
1. เดินแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากเดินช้าและเพิ่มเวลาเมื่อรู้สึกชิน จนสามารถเดินได้นาน 30 นาที
2. ควรเดินให้ได้ระยะทางประมาน 2.5 ถึง 3.5 กิโลเมตร โดยใช้เวลา 30 นาที (สำหรับวัยรุ่น วัยทำงาน ส่วนผู้สูงอายุ 2 ถึง 3 กิโลเมตรใน 30 นาที)
3. เริ่มเดินช้าๆ ประมาณ 3 ถึง 5 นาที แล้วเพิ่มความเร็วจนถึงระดับเริ่มรู้สึกเหนื่อย (ยังพูดคุย ทักทายกับคนอื่นได้) นาน 25 ถึง 30 นาที และช่วงท้ายชะลอให้ช้าลง 3 ถึง 5 นาที ก่อนหยุด
4. หากรู้สึกเหนื่อยหอบ (พูดเป็นคำๆ ขาดช่วง) ให้ชะลอความเร็วในการเดิน ถ้าเป็นมากให้หาที่นั่งพัก
5. เริ่มทำจาก 3 วัน/สัปดาห์ และเพิ่มเป็น 5 ถึง 6 วัน/สัปดาห์ (รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 150 นาที/สัปดาห์)
ผู้ที่ไม่เคยเดิน หรือไม่เคยออกกำลังกายเป็นประจำ ควรเริ่มจากการเดินช้า ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลา เช่น เดินเพิ่มขึ้นวันละ 1 นาที ทุกวัน จนสามารถเดินได้นานติดต่อกันอย่างน้อย 10 ถึง 15 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนครั้งที่เดิน เป็นวันละ 2 ครั้ง แล้วเพิ่มเป็นวันละ 3 ถึง 6 ครั้ง เป้าหมายคือเดินช้า ๆ ได้ไม่น้อยกว่า 60 นาที/วัน
ผลที่ได้จากการเดิน เช่น
· ผู้หญิงที่เดิน 1 ชม./วัน ลดโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 34
· คนปกติเฉลี่ยเดินเพิ่มขึ้น 2,500 ก้าวต่อวัน ลดความดันโลหิตโดยเฉลี่ย 3.8 มม.ปรอท
· เดินเร็ว 1 ชม./วัน ติดต่อกันนาน 3 เดือน ลดน้ำหนักได้ 7 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับน้ำหนักแต่ละคนว่า มาก หรือ น้อย และปริมาณพลังงานที่กิน)